Home » พระบรมราชานุสาวรีย์ในหลวงร.9 สง่างามสมพระเกียรติ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ 

พระบรมราชานุสาวรีย์ในหลวงร.9 สง่างามสมพระเกียรติ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ 

by rttwp01
1,194 views

อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้แนวพระราชดำริของทั้งสองพระองค์ รวมถึงเป็นสถานที่ที่พสกนิกรจะได้รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีต่อปวงชนชาวไทยอย่างไม่เสื่อมคลาย  

อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ สร้างบนพื้นที่เดิมของราชตฤณมัยสมาคม หรือสนามม้านางเลิ้ง เป็นที่ดินในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครอบคลุมพื้นที่ 279 ไร่ ซึ่งพระราชทานให้พัฒนาพื้นที่เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ เริ่มพัฒนาแบบตั้งแต่พุทธศักราช 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในพุทธศักราช 2567 โดยพื้นที่ประมาณ 216 ไร่ ออกแบบเป็นพื้นที่สวนด้วยต้นไม้ใหญ่ กว่า 4,500 ต้น มีแนวคิดการออกแบบที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สะท้อนแนวคิด “น้ำคือชีวิต จากนภา ผ่านภูผา สู่นที” อาทิ สระน้ำรูปเลข ๙ และสวนป่าธรรมชาติสอดรับกับแนวคิดเรื่องป่าและน้ำ สะพานหยดน้ำพระทัย สะพานไม้เจาะบากง รวมถึงการออกแบบให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อาทิ โครงการในการรักษาและฟื้นฟูป่า รักษาแหล่งน้ำ เกษตรทฤษฎีใหม่ บ่อปลานิล กังหันชัยพัฒนา ฝายชะลอน้ำ พลังงานทดแทนจาก Floating Solar Cell พร้อมพื้นที่ลานออกกำลังกาย ลานกิจกรรม ลานจอดรถ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ อีกทั้งยังใช้เป็นแก้มลิงแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ด้วย

สระน้ำรูปเลข ๙

บริเวณศูนย์กลางซึ่งถือเป็นหัวใจของอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมรูปขนาดความสูง 7.41 เมตร หรือขนาด 4 เท่าของพระองค์จริง ประดิษฐานอยู่บนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หันพระพักตร์ไปทางพระตำหนักสวนจิตรดา ถนนศรีอยุธยา หล่อด้วยโลหะสำริด ฐานพระบรมรูปตั้งอยู่บนลานรูปไข่ ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  

ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้ง 8 เหลี่ยม มีแผ่นจารึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อนำพาประเทศชาติให้อยู่ดีมีสุข อันก่อให้เกิดความผูกพันและความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของไทยที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน โดยคำจารึกทั้ง 8 ด้านประกอบด้วย 

แผ่นจารึกที่ 1 ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพ วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2470 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 เสด็จสวรรคต วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2556 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี มาทรงประกอบพิธิเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2565

แผ่นจารึกที่ 2 ด้านทิศตะวันออก พระราชาผู้ทรงธรรม 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ ‘เราจะครองแผ่นเดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม’ เมื่อวันที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทยโดยสมบูรณ์ตามโบราณขัตติยราชประเพณี ทรงหลั่งทักษิโณทกตั้งพระราชสัตยาธิษฐานว่าจะทรงบำเพ็ญสรรพราชกรณียกิจด้วยทศพิธราชธรรม ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญาเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์ สมดังพระราชปณิธานที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยไว้ทุกประการ

แผ่นจารึกที่ 3 ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ กลางใจราษฎร์ 

‘ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้ คือการที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง’ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารทั่วพระราชอาณาจักร ทำให้ทรงใกล้ชิดกับพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทรงเห็นถึงปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร จึงทรงศึกษาหาวิธีแก้ไข นำมาซึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริกว่า 2,000 โครงการ ด้วยทรงมุ่งหมายให้พสกนิกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การอุทิศพระองค์ทรงงานด้วยพระวิริยะอุตสาหะเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรตลอดรัชสมัย ก่อให้เกิดความผูกพันและความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของไทยที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน

แผ่นจารึกที่ 4 ด้านทิศใต้ ปราชญ์ของแผ่นดิน 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นนักคิดและนักปฏิบัติ พระวิสัยทัศน์นี้ที่กว้างไกลอันเกิดจากการทรงงานหนักและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ทรง ‘เข้าใจ เข้าถึง’ ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงทรงให้ความสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรน้ำ ดิน และป่าไม้ ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของการทำมาหาเลี้ยงชีพของราษฎร เกิดเป็นแนวพระราชดำริด้านการเกษตร ‘การเกษตรตามหลักทฤษฎีใหม่’ อันเป็นแนวทางการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังพระราชทานแนวพระราชดำริ ‘หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ เพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิต โดยเน้นการพึ่งพาตนเองบนพื้นฐานของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีคุณธรรม

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2565 เวลา 16.33 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปทรงประกอบพิธีบวงสรวงอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อประดิษฐานบนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

แผ่นจารึกที่ 5 ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระภูมินทร์บริบาล 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา พระอัจฉริยภาพในศาสตร์แขนงต่างๆ ที่ทรงประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศทุกๆ ด้านของพระองค์ เปรียบประดุจเป็น ‘พลังแห่งแผ่นดิน’ เป็น ‘ภูมิคุ้มกัน’ นำพาประเทศไปสู่ความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืน พระราชกรณียกิจเพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ครอบคลุมทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข การคมนาคม การชลประทาน การศึกษา เทคโนโลยี ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งการเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ

แผ่นจารึกที่ 6 ด้านทิศตะวันตก นวมินทร์โลกกล่าวขาน 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณ อาทิ อัครศิลปิน พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย พระบิดาแห่งฝนหลวง พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน นอกจากนี้ ได้มีการถวายพระนามด้วยความจงรักภักดี อาทิ กษัตริย์เกษตร กษัตริย์นักพัฒนา และกษัตริย์นักกีฬา พระเกียรติคุณของพระองค์ ไม่เพียงแต่เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ใจคนไทยทั้งชาติเท่านั้น หากแต่ยังปรากฎชัดต่อสายตานานาอารยประเทศอีกด้วย ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลหลากหลายสาขาจากสถาบันและองค์กรต่างประเทศ เช่น ‘รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์’ ที่องค์การสหประชาชาติทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในฐานะที่ทรงเป็นนักคิด และทรงมีคุณูปการต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นับเป็นเกียรติภูมิอันสูงสุดของประเทศชาติและชาวไทยทั้งปวง

แผ่นจารึกที่ 7 ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สืบสาน รักษา และต่อยอด 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชจริยวัตรอันงดงาม ทรงเป็นต้นแบบแห่งความเพียรในการทำความดี และทรงอุทิศพระองค์เพื่อประเทศชาติและประชาชน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงน้อมนำมาเป็นพระราชปณิธาน ‘สืบสาน รักษา และต่อยอด’ ในการมุ่งมั่นทำความดีเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์และความวัฒนาสถาพรของประเทศชาติสืบไป

แผ่นจารึกที่ 8 ด้านทิศเหนือ บรมราชสดุดี 

เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้น ณ พื้นที่ซึ่งทรงอุทิศให้เป็นสวนสาธารณะ มีภูมิสถาปัตย์ตามแบบอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อถวายเป็นพระเกียรติยศให้ปรากฏแผ่ไพศาลสืบไปตลอดนิรันดร์กาล

###

ขอขอบคุณข้อมูล

www.royaloffice.th

https://www.thaipost.net/hi-light/239742/

You may also like

About Us

สื่อที่มุ่งเน้นข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ เป็นกลาง เพื่อให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ

@2022 – All Right Reserved. Designed and Developed byu00a0PenciDesign