14 มีนาคม 2565 ที่รัฐสภา พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีนางภนิดา ศิระยุทธโยธิน มารดาของ น.ส.ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม ขออายัดศพ เพื่อขอชันสูตรเป็นรอบที่สอง ว่า ตามคำแนะนำที่คุยกับคุณแม่ของแตงโมและทนายความ ว่า การขอทราบผลตรวจศพและตรวจทุกอย่างที่เกี่ยวกับศพจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์คือดีที่สุด และทราบว่าคุณแม่แตงโมจะไปยื่นวันนี้ เวลา 15.00 น. โดยตนจะไปในนามของคณะกมธ.และผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ เพื่อเข้าไปร่วมดูและจะอธิบายให้ฟังว่าตอบคำถามหมดหรือไม่ เช่น แผลที่ขา หลังจากได้ผลชิ้นเนื้อแล้ว หมอจะทราบได้ว่าโดนใบพัดหรืออะไรกันแน่ หรือถ้ายังมีประเด็นที่เป็นข้อสงสัย เมื่อนั้นก็ควรจะมีการชันสูตรศพใหม่ ซึ่งเป็นสิทธิของเขา และเป็นเรื่องของกระทรวงยุติธรรมและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้ โดยส่วนตัวและมารยาทจะไม่ลงไปเป็นผู้ผ่าชันสูตรศพเอง เพราะตามข้อกฎหมายไม่ได้อยู่ในฐานะที่ทำได้ แต่ตนสามารถให้คำปรึกษาได้ ทั้งในนามคณะกมธ.และการเป็นคนไทยที่เห็นความไม่ยุติธรรม ถ้าตราบใดที่ตนยังมีลมหายใจจะขับเคลื่อนให้เปลี่ยนแปลงเชิงระบบให้ได้
เมื่อถามว่า สามารถเป็นที่ปรึกษาผ่าพิสูจน์ศพรอบสองได้หรือไม่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่อาจจะติดต่อตนมาเพื่อตั้งเป็นที่ปรึกษาก็ได้ แต่ส่วนตัวเมื่อเห็นว่าประชาชนคนใดเดือดร้อน ถ้าช่วยได้ก็จะช่วย
เมื่อถามต่อว่าเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา มีผลชันสูตรจากหน่วยงานภายนอกระบุว่าบาดแผลที่ขาเกิดก่อนเสียชีวิต บ่งชี้อะไรได้บ้าง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า อย่างแรกอยากให้ทุกคนไปดูที่ต้นตอข่าวก่อนว่าใครเป็นผู้ให้ข่าว ผู้ผ่าศพหรือผู้ที่ตรวจชิ้นเนื้อ เพราะในประเทศไทยหากต้องการตรวจชิ้นเนื้อ ผู้ผ่าศพจะเป็นคนแรกที่เป็นผู้เลือกชิ้นเนื้อแล้วนำส่งไปที่พยาธิแพทย์ ซึ่งเขาจะระบุเพียงว่าเลือดพบการอักเสบ จากนั้นหมอจะนำมาบอกว่าแผลเกิดก่อนเสียชีวิต ขณะที่หมอผ่าศพต้องรู้ว่าแผลนี้ไม่โดนเส้นเลือดใหญ่ หมอจึงเป็นคนพูดว่าแผลนี้ไม่ได้ทำให้เสียชีวิต ดังนั้น แพทย์ที่ตรวจชิ้นเนื้อไม่น่าจะให้ผลชันสูตรนี้ เพราะฉะนั้นแปลได้ว่าแผลดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนเสียชีวิต ซึ่งเป็นคำถามที่เคยถามว่าแผลดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนตกน้ำหรือเกิดตอนอยู่ในน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องยาก
“จริง ๆ คดีนี้ไม่ยากอยู่ที่ว่าได้รวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วน ถูกต้อง ทันเวลาหรือไม่ และการที่จะบอกว่าแผลเกิดขึ้นก่อนหรือหลังตกน้ำ ไม่ได้อยู่ที่ศพ แต่อยู่ที่ที่เกิดเหตุ คือ นิติวิทยาศาสตร์ เรือ และบุคคลทั้ง 5 คน และการให้ชันสูตรรอบสองก็ถือว่าชัดเจนว่าถึงเวลาหรือยังที่ต้องปฏิรูป เพราะแผลจะตอบได้เลยว่าเกิดขึ้นก่อนตกน้ำหรือในน้ำ โดยกรณีหนึ่งสาธิตให้เห็นแล้วคือการจำลองด้วยเรือ ว่าเรือที่มีความเร็วและแตงโมหล่นท้ายเรือแบบที่คิดว่าไปนั่งฉี่ ตัวจะกระเด็นออกไปไม่โดนอะไรเลย ฉะนั้น ก็เป็นนิติวิทยาศาสตร์อีกสาขาหนึ่งที่นำมาประกอบในการสรุป” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว
พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวต่อว่า ตนจะเข้าไปร่วมผ่าพิสูจน์ด้วยหรือไม่ขึ้นอยู่กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ แต่ข้อแนะนำ คือ การตรวจกระดูกในบริเวณที่วัตถุไปโดน สามารถนำท่อนกระดูกนั้นไปตรวจด้วยกล้องฯ ซึ่งกล้องดังกล่าวมีที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับโลหะ หรือใบพัด รวมทั้งขวดและแก้วไวน์ด้วย อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านมาหลายวันทำให้สภาพศพเกิดปัญหา แต่ประเด็นหลักที่ญาติต้องการ หรือสิ่งที่เขาต้องตอบ ต้องดูว่าอยากทราบอะไร แต่เชื่อว่าการผ่าชันสูตรครั้งที่หนึ่งตอบไปได้มากแล้ว แต่ถ้านำมาชันสูตรรอบที่สอง แล้วสมมุติถามว่าแตงโมมีแอลกอฮอล์หรือไม่ รับรองว่าตรวจไม่ได้ ดังนั้น การตรวจรอบ 2 จะช่วยได้ในช่วงบริเวณกระดูกรอยตัด
“วันที่ 16 มีนาคมที่จะถึง ตนจะไปเข้าไปดูเรื่องนี้กับครอบครัวแตงโมว่าตอบได้หมดหรือไม่ หากพบว่าตอบอะไรไม่ได้ ก็จะไปถามในการชันสูตรครั้งที่สอง และคดีนี้ถือว่าแปลกแต่ต้น เพราะไม่ใช่วิถีที่จะทำให้เกิดความกระจ่าง คือ การไม่เก็บหลักฐานของคนทั้ง 5 คน และเรือทันที และเรือก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาซึ่งขัดกับหลักนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนเรื่องฟันหักก็คงเป็นเรื่องที่นิติเวชจะต้องตอบ” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าว.