17 มีนาคม 2565 จากกรณีเฟซบุ๊ก BLACKPINK Thailand โพสต์ภาพศิลปิน ลิซ่า Blackpink หรือ ลลิษา มโนบาล ที่ถ่ายรูปถือขวดวิสกี้ยี่ห้อดัง ซึ่งเป็นภาพจากการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้แก่แบรนด์ ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากในประเทศไทยมีมาตรการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 นั้น
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ตนยัง ไม่ทราบรายละเอียด เป็นเรื่องของระเบียบ กฎกระทรวงที่ต้องดำเนินการไปตามกฏหมาย
ด้านนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “น้องลิซา โพสต์เหล้าผิดกฎหมายหรือไม่ ข้อกฎหมาย ความผิดมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ (วรรค 1 ตอนที่ 1) ห้ามทุกคนทำการโฆษณา (ทำให้เห็น ได้ยิน รู้ ทราบ ) และ +เจตนาพิเศษ มุ่งหวังประโยชน์ทางการค้า (วรรค 1 ตอน 2) ห้ามแสดงชื่อ เครื่องหมาย อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่ม
ข้อยกเว้นกฎหมายประการแรก ให้ผู้ผลิตทุกประเภท ทำการสื่อสารได้ ประเด็นการให้ข้อมูลข่าวสาร และความรู้เชิงสร้างสรรคสังคม โดยไม่โชว์ สินค้า หรือบรรจุภัณฑ์ แต่โชว์โลโก้เครื่องดื่มและโล้โก้บริษัทได้ ส่วนข้อยกเว้นกฎหมาย ประการที่สอง มิให้ใช้บังคับกับการโฆษณาที่มีต้นกำเนิดนอกราชอาณาจักร
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริง คือน้องลิซารับเป็นทูตทางสินค้าและโพสต์สื่อสารโฆษณาการตลาดผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ จึงเข้าองค์ประกอบข้อยกเว้นกฎหมายมาตรา 32 วรรค 3 ที่สามารถกระทำได้ เพราะอยู่นอกเขตราชอาณาจักรไทย แต่ ถ้ามี ใคร (ผู้ใด) นำสื่อสารดังกล่าวมา สื่อสารในประเทศ หรือโพสต์ หรือแชร์ในประเทศ ก็จะมีความผิด ตาม มาตรา 32 วรรค 1 (ซึ่งจะพิจารณาจาก ความมุ่งหวังพิเศษว่า มุ่งประโยชน์ทางการค้า)
ฉะนั้น กรณีนี้ นายทุนเหล้า เขามุ่งหวังที่จะให้เกิดการแชร์ การโพสภาพดังกล่าวเพื่อให้เป็นกระแส ถ้ามีการกระทำโดยไม่มีการเซ็นเชอร์ ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นคนเน็ตไอดอล หรือคน ดัง สำหรับคนทั่วไปก็ยึดหลัก รัก “ลิซา ไม่โพสต์ภาพขวดเหล้า” ซึ่งกรณีแบบนี้ หลายปีก่อน ดาราไทยก็เคยทำและมีความผิดแล้ว
หมายเหตุ การโพสต์ขวดเหล้าแก้วเหล้า สำหรับประชาชนคนทั่วไป ในวิถีชีวิตปรกติ ที่มิได้มุ่งทางการค้า มิได้มีความผิดตามกฎหมายมาตรานี้ ฉะนั้นมาตรา 32 มิได้เป็นการห้ามโฆษณาแบบสุดขั้ว แต่มีข้อยกเว้นให้ผู้ผลิตทุกประเภท และมิใช่ทุกพฤติกรรมจะเข้าองค์ประกอบความผิดนี้”.