Home » Live Exhibition การบูรณะงานจิตรกรรมผลงาน “ท่านกูฎ” พร้อมรื่นรมย์กับชุดน้ำชายามบ่ายตำรับไทยรังสรรค์พิเศษ

Live Exhibition การบูรณะงานจิตรกรรมผลงาน “ท่านกูฎ” พร้อมรื่นรมย์กับชุดน้ำชายามบ่ายตำรับไทยรังสรรค์พิเศษ

by rttwp01
146 views

หลังจากที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ โฉมใหม่ ได้เปิดให้บริการ และอวดโฉมใหม่แก่ลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน 2567 สิ่งหนึ่งที่ได้รับการพูดถึง และชื่นชม คือ การนำเอาอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ แห่งเดิม เดินทางข้ามผ่านกาลเวลา และมาเป็นส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม และ งานออกแบบภายในของยุคปัจจุบันได้อย่างลงตัว อีกทั้งยังนำความวิจิตรของงานศิลปะทั้งของเดิม และของใหม่ที่ได้รับการรังสรรค์โดยศิลปินไทยรุ่นใหม่ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานอินทีเรีย ดีไซน์ ได้อย่างไร้รอยต่อ 

หนึ่งในชิ้นงานสำคัญที่ได้ถูกเก็บรักษาและนำมาเป็นส่วนหนึ่งของโรงแรมโฉมใหม่ คือ ต้นเสาขนาดใหญ่น้ำหนักต้นละ 5 ตัน จำนวน 2 ต้น ที่มีงานจิตรกรรมไทยผลงานอาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฎ หรือเป็นที่รู้จักกันในนาม “ท่านกูฎ” ซึ่งท่านได้สร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ไว้ให้แก่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ แห่งเดิม เมื่อ 50 กว่าปีก่อน และในโอกาสชาตกาล 100 ปีของท่านกูฎในปีนี้ ทางโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ได้ร่วมมือกับทายาทของศิลปิน จะดำเนินการบูรณะงานจิตรกรรมบนผนังเสา ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันเสาร์ที่ 8 มีนาคม ไปจนถึงวันศุกร์ที่ 21มีนาคม  2568 ณ บริเวณล็อบบี้ ของโรงแรม

การบูรณะงานจิตรกรรมมักจะเกิดขึ้นในวัด และโบราณสถาน กิจกรรม Murals Restoration ที่กำลังจะเกิดขึ้นใจกลางล็อบบี้ ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ จึงกล่าวได้ว่าเป็น Live Art Exhibition ซึ่งหาชมได้ยากในโรงแรมโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่จะมีนิทรรศการการบูรณะงานจิตรกรรม ที่มีศิลปิน ครู ช่างศิลป์ และทายาทของท่านกูฎ นำโดยอาจารย์ภาพตะวัน สุวรรณกูฎ และ อาจารย์กาพย์แก้ว สุวรรณกูฎ มาร่วมกันบูรณะผลงานของบรมครูให้ท่านได้รับชมกันสดๆ ใจกลางล็อบบี้ของโรงแรมระดับห้าดาว เป็นโอกาสอันดีที่ผู้ที่สนใจ นิสิต นักศึกษา นักเรียนที่เรียนด้านจิตรกรรมไทย หรืองานศิลปะ และคนรุ่นใหม่จะได้เปิดประสบการณ์ และเรียนรู้จากศิลปินรุ่นครู ในการอนุรักษ์ชิ้นงานที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อเกือบ 60 ปีก่อน 

ขั้นตอนการบูรณะงานจิตรกรรมบนผนังของต้นเสาขนาดใหญ่ยักษ์นี้ ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอนหลักๆ 

1 ทางช่างศิลป์จะเริ่มดำเนินการเก็บลวดลายต้นฉบับของเดิมด้วยการลอกลาย เพื่อจะนำลายเส้นที่ทำการลอกลายไว้ไปทำเป็นภาพพิมพ์ลายฉลุ ลายที่จะได้หลังจากการบูรณะจะมีความถูกต้องตรงตามผลงานต้นฉบับ หลังจากลอกลายต้นฉบับเก็บไว้แล้ว ทางช่างศิลป์จะดำเนินการขัดผิวผนังด้านนอกของเสาออก เพื่อเตรียมผนังให้พร้อม

2 ขั้นต่อมา ช่างศิลป์จะเริ่มลงลายวาด ลงลายเส้นผ่านภาพพิมพ์ลายฉลุบนผนังของต้นเสา จากนั้นจะเริ่มลงสี ซึ่งทางช่างศิลป์ และทายาทของท่านกูฎได้ทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องสี เพื่อจะให้แน่ใจว่าสีที่จะลงใหม่ จะไม่ดูแปลกตาไปจากสีเดิมของผลงานต้นฉบับ ความท้าทายในขั้นตอนการลงสี คือ สีที่ใช้ในปัจจุบันแตกต่างกับที่ท่านกูฎใช้เมื่อเกือบ 60 ปีก่อน ซึ่งสีในสมัยก่อนที่ครู และช่างศิลป์ใช้นั้นจะได้มาจากการนำแร่สีต่างๆ ไปบด และผสมกับสีที่ได้จากธรรมชาติ ดังนั้นเนื้อสีที่ได้จึงมีความแตกต่างกับสีที่ใช้ในยุคปัจจุบัน

3 สุดท้ายจะเป็นขั้นตอนเก็บลายละเอียดของลายวาด และสี เพื่อให้งานที่ได้จากการบูรณะในครั้งนี้ ลายเส้น ลายพู่กันทุกลาย มีความเรียบร้อย งดงามใกล้เคียงที่สุดกับงานต้นฉบับ 

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชม Live Art Exhibition นิทรรศการการบูรณะงานจิตรกรรมบนผนังเสาขนาดใหญ่ ซึ่งในอดีตเคยอยู่ในห้องอาหารไทยเบญจรงค์  (ขอความกรุณาแต่งกายด้วยชุดสุภาพ)  ศิลปินจะใช้เวลาลงลายไทยตามต้นแบบของท่านกูฎ และลงสีบนผนังเสาให้มีความใกล้เคียงกับผลงานต้นฉบับของท่านกูฎให้มากที่สุด เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 17.00 น. ในวันที่ 10 – 21 มีนาคม 

ในโอกาสพิเศษนี้ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ได้รังสรรค์ชุดน้ำชายามบ่ายตำรับไทย ชุดพิเศษที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมทางด้านอาหารไทยในอดีต และชีวิตและผลงานของอาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฎ มีให้บริการที่ แกรนด์ ล็อบบี้ บาร์ เพื่อให้การมาร่วมเปิดประสบการณ์เสพงานศิลป์ ชมการบูรณะงานจิตรกรรมเป็นไปอย่างครบรส ครบประสบการณ์ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส 

ขนมและของว่างในชุดน้ำชายามบ่ายชุดพิเศษนี้ ประกอบไปด้วยขนม และอาหารว่าง 14 รายการเริ่มต้นกระตุ้นต่อมรับรสด้วยเมี่ยงคำ ตามวิถีของคนไทยในอดีต จากนั้นเพลิดเพลินกับอาหารว่าง และตามด้วยของหวาน เมนูที่พลาดไม่ได้ คือ กระยาสารทในรูปทรงของต้นเสาโบราณที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางล็อบบี้โรงแรม ซึ่งเชฟได้สร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการปรับเปลี่ยนวัตถุดิบที่ใช้ในการกวนกระยาสารท เป็นการใช้พิสตาชิโอ ถั่วแมคคาเดเมีย และอัลมอนด์ แทนการใช้ถั่ว งา ข้าวพอง ตามแบบโบราณ และได้ตัดความหวานด้วยน้ำเสาวรส จากนั้นนำกระยาสารทที่ได้มาห่อด้วยลายพิมพ์ที่ลอกแบบมาจากต้นเสาโบราณผลงานของท่านกูฎ

ในชุดน้ำชายามบ่ายยังมี มังกรคาบแก้ว ซึ่งเชฟได้ตีความหมายใหม่ และถ่ายทอดออกมาเป็น ของว่างขนาดพอดีคำ มีไส้เป็นไชโป้วผัดกับถั่วลิสงและถูกพันรอบด้วยเจลลี่รสส้ม  ขนมจีบไส้ปลาในรูปทรงปลาทองสวยงาม ซึ่งเชฟใช้เนื้อปลาช่อนนามาสับละเอียดแล้วนำไปผัดกับสามเกลอ (รากผักชี กระเทียม พริกไทย)  และอีกหนึ่งเมนูที่พลาดไม่ได้ คือ ขนมลิ้นจี่ ซึ่งเป็นขนมไทยในสมัยโบราณ หากแต่ในสมัยโบราณจะปรุงเป็นขนมหวานมีไส้เป็นมะพร้าวหวาน รูปทรงเลียนแบบลิ้นจี่ เชฟของโรงแรมต้องการสืบสานวัฒนธรรมทางด้านอาหารไทย จึงนำขนมลิ้นจี่กลับมานำเสนอ หากแต่ตีความใหม่ให้กลายเป็นอาหารคาว โดยนำถั่วบดมาผัดกับกุ้ง เนื้อหมู พริกไทยและปั้นเป็นไส้ ห่อด้วยแป้งสาคูสีแดงคล้ายเปลือกลิ้นจี่ ซึ่งสีแดงนี้ได้มาจากน้ำกระเจี๊ยบ 

สำหรับท่านที่ชื่นชอบทุเรียน ท่านจะมีความสุขกับเมนูช่อผกากรองน้ำกะทิทุเรียน เชฟใช้แป้งสาลีนวดกับกะทิจนเนียนนุ่ม แล้วยัดไส้ด้วยน้ำกะทิทุเรียน ให้ท่านได้เปิดประสบการณ์ใหม่กับน้ำกะทิทุเรียนในร่างผกากรอง ปิดท้ายความอร่อยยามบ่ายด้วยไอศครีมตะลิงปลิง

ขนมหวานและอาหารว่างทั้งหมด 14 รายการในชุดน้ำชายามบ่ายชุดที่ได้รับการรังสรรค์พิเศษขึ้นมาในโอกาสร้อยปีชาตกาลของท่านกูฎชุดนี้นั้น ทุกรายการล้วนได้รับแรงบันดาลใจมากจากวัฒนธรรมทางด้านอาหารไทย ตลอดจนได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตและผลงานของอาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฎ โดยสองเมนูที่สะท้อนถึงชีวิตของท่านกูฎ คือ ช็อกโกแลตรสมะขาม ซึ่งมะขามเป็นผลไม้ที่อาจารย์ไพบูลย์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และความเรียบง่ายมาทำให้มะขามเป็นผลไม้ที่สร้างความผูกพันและความสนุกในครอบครัว อีกทั้งยังเป็นผลไม้ที่ทำให้ลูกๆ ของท่านไม่ต้องมีความรู้สึกว่าด้อยกว่าเพื่อนๆ นักเรียนคนอื่นๆ ที่มีฐานะดี อีกหนึ่งเมนู ที่เป็นเสมือนตัวแทนความสุข และการเฉลิมฉลองของท่านกูฏและครอบครัว คือ ข้าวเหนียวมะม่วง โดยเชฟนำมาปรับรูปลักษณ์ใหม่ให้มีความสวยทันสมัย

ชุดน้ำชายามบ่ายตำรับไทยชุดพิเศษในโอกาสร้อยปีชาตกาลของท่านกูฎจะมีให้บริการไปจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2568 ให้บริการตั้งแต่เวลา 14.00 น. จนถึง 17.00 น. ราคา 2,450++ บาท ต่อ 1 ชุดสำหรับสองท่าน (สงวนสิทธิ์เฉพาะท่านที่สั่งจองล่วงหน้าเท่านั้น)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ โทร 0 2200 9000 อีเมล dtbk@dusit.com

You may also like

About Us

สื่อที่มุ่งเน้นข้อมูลข่าวสารเชิงสร้างสรรค์ เป็นกลาง เพื่อให้ความรู้และสร้างแรงบันดาลใจ

@2022 – All Right Reserved. Designed and Developed byu00a0PenciDesign